วันพฤหัสบดีที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา




ปราสาทหินพิมาย นครราชสีมา

ปราสาทหินพิมาย อยู่ใน อ. พิมาย จ. นครราชสีมา สร้างขึ้นเนื่องในพุทธศาสนา เป็นปราสาทหินบนพื้นราบที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ประกอบด้วยปราสาทประธานเป็นปรางค์องค์ใหญ่ สร้างด้วยหินปูนและหินทราย ตัวปราสาทหันหน้าไปทางทิศใต้ (โดยปกติปราสาทเขมร มักสร้างหันหน้าไปทางทิศตะวันออก) คงให้รับกับถนนโบราณ ซึ่งตัดตรงจากเมืองพระนครหลวงของขอมมายังปราสาทหินพิมาย หน้าบันของปราสาทเป็นภาพเล่าเรื่อง เช่น รามเกียรติ์ ภาพศิวนาฏราช เป็นต้น

ปราสาทประธานล้อมรอบด้วยระเบียงคด ภายในลานชั้นในยังมีปรางค์พรหมทัตอยู่ทางทิศตะวันออก และปรางค์หินแดงอยู่ทางทิศตะวันตก สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ ๗ ราวพ.ศ.๑๗๖๓-๑๗๖๕ และได้พบประติมากรรมบุรุษนั่งขัดสมาธิมือประนมอยู่เหนืออุระ เชื่อกันว่าเป็นพระรูปของพระเจ้าชัยวรมันที่๗

หลังปรางค์แดงมีอาคาร เรียกว่าหอพราหมณ์ อาจใช้เป็นที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์ ระหว่างระเบียงคดกับกำแพงสองชั้นเป็นลานชั้นในมีสระน้ำ หรือที่เรียกว่าบาราย อยู่ทั้งสี่มุม นอกกำแพงปราสาททางซุ้มประตูด้านในมีคลังเงิน ซึ่งเคยขุดพบเหรียญสำริดเป็นรูปครุฑหรือหงส์ด้านหนึ่ง และมีอักษรโบราณประกอบ
ที่สำคัญของภูมิภาค มีเส้นทางคมนาคมเชื่อมโยงกับเมืองสำคัญทางตอนเหนือของลาวและทางตอนใต้ของขอม เมื่อชมปราสาทหินพิมายแล้วควรแวะชมพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย ซึ่งจัดเก็บโบราณวัตถุสำคัญจากปราสาทแห่งนี้ไว้ พิพิธภัณฑ์ตั้งอยู่ในบริเวณใกล้กัน


ประวัติ
สร้างขึ้นเพื่อเป็นพุทธสถานในลัทธิมหายาน สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในยุคที่อาณาจักรขอมแผ่อิทธิพลมายังภูมิภาคนี้ในสมัยพระเจ้าสุริยวรมันที่ 1 (พ.ศ. 1545-1593) และมีการก่อสร้างเพิ่มเติมในช่วงรัชกาลสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) มหาราชองค์สุดท้ายของอาณาจักรขอม ในปี พ.ศ. 2479 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานของชาติและเริ่มบูรณะในปี พ.ศ. 2494 และ พ.ศ. 2497 กรมศิลปากรได้บูรณะองค์ปรางค์ประธานอีกครั้ง โดยได้รับเงินงบประมาณสนับสนุนจากรัฐบาลฝรั่งเศส จนแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2507-2512 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 5 กำหนดให้เมืองโบราณพิมายและปราสาทหินพิมายเป็นอุทยานประวัติศาสตร์ในปี พ.ศ. 2529 โดยมีการอนุรักษ์และบูรณะเป็นอย่างดี

ที่ตั้ง
อ. พิมาย ห่างจากตัวเมืองโคราชราว 60 กม.


สิ่งน่าสนใจ



ปราสาทหินพิมาย
หันหน้าไปทางทิศใต้ไปทางที่ตั้งของเมืองพระนครซึ่งเป็นเมืองหลวงของอาณาจักรขอม ปราสาทหินพิมายมีแบบแปลนเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า กว้าง 565 ม. ยาว 1,030 ม. ล้อมรอบด้วยคูน้ำ มีประตูเมืองทั้งสี่ทิศ ภายในบริเวณปราสาทหินมีโบราณสถานที่น่าสนใจหลายแห่งโดยเริ่มตั้งแต่ทางเข้าตามลำดับดังนี้

- คลังเงิน จากประตูชัยเข้าไปก่อนถึงตัวปรางค์ จะเห็นคลังเงินตั้งอยู่ทางทิศตะวันตก หรือทางด้านซ้ายมือ ปัจจุบันอาคารคลังเงินเหลือเพียงซากฐานขนาดใหญ่ เหตุที่เรียกอาคารหลังนี้ว่า "คลังเงิน" เพราะเคยพบเหรียญสำริดโบราณซึ่งด้านหนึ่งเป็นรูปครุฑหรือหงส์ อีกด้านหนึ่งเป็นอักษรโบราณ นอกจากนี้ยังพบทับหลังจำหลักเป็นรูปคนกำลังหลั่งน้ำมอบม้าแก่พราหมณ์

- สะพานนาค เป็นทางที่ทอดนำเข้าสู่ตัวปรางค์ มีนาคทอดตัวยาวเป็นราวบันได ชูเศียรทั้งเจ็ดแผ่พังพานเปล่งรัศมีอย่างสวยงาม นาคเป็นสัตว์มงคลที่มักพบตามโบราณสถาน ที่ได้รับอิทธิพลจากคติของศาสนาฮินดู หรือพราหมณ์ซึ่งเชื่อว่านาคทอดร่างเป็นทางเชื่อมระหว่างโลกมนุษย์กับสวรรค์ที่เชิงบันไดนาคทั้งสองข้างมีสิงห์จำหลักจากหินประดับอยู่ข้างละตัว สิงห์มีท่าทางองอาจเสมือนเป็นผู้พิทักษ์โบราณสถาน ลักษณะทางศิลปกรรมของสิงห์และนาคนี้ คล้ายศิลปะที่นครวัดที่สร้างในช่วงรัชกาลพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 (พ.ศ. 1656-1688)



- ซุ้มประตู หรือโคปุระชั้นนอก มีทั้งหมดสี่ด้านอยู่กึ่งกลางแนวกำแพง ลักษณะการสร้างเหมือนกันทุกด้านคือมีขนาดกว้างสามคูหามีเสาศิลา ช่องลมประดับข้างละสองช่อง เคยพบทับหลังชิ้นหนึ่งที่โคปุระด้านทิศตะวันตก สลักเป็นรูปขบวนแห่พระพุทธรูปนาคปรกประดิษฐานบนคานหาม ทับหลังชิ้นนี้ปัจจุบันอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พิมาย

- พระระเบียง เมื่อมาถึงระเบียงก็ถือว่าเข้าสู่เขตชั้นในของปราสาทหินแล้ว พระระเบียงแต่ละด้านมีซุ้มประตูหรือโคปุระชั้นในอยู่กึ่งกลาง ที่น่าสนใจคือที่กรอบประตูด้านทิศใต้มีจารึกบนแผ่นหิน เป็นอักษรเขมรโบราณกล่าวถึงการสร้างเมืองพิมาย และการสร้างรูปเคารพ

จากพระระเบียงจะเข้าสู่ชั้นในซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปราสาทหินพิมาย มีปรางค์สามองค์ตั้งอยู่บนฐานเดียวกัน คือ ปรางค์ประธาน ปรางค์พรหมทัต และปรางค์หินแดง




- ปรางค์ประธาน มีขนาดใหญ่ที่สุดในจำนวนปรางค์ทั้งสามองค์ สร้างขึ้นช่วงพุทธศตวรรษที่ 16-17 หันหน้าไปทางทิศใต้ ต่างจากปราสาทขอมแห่งอื่น ๆ ที่มักจะหันหน้าไปทางทิศตะวันออก สันนิษฐานว่าหันไปยังที่ตั้งเมืองพระนคร ซึ่งเป็นเมืองหลวงศูนย์กลางอำนาจของขอมในอดีต บ้างก็ว่าเป็นคติทางพุทธศาสนาที่ถือทิศใต้เป็นทิศแห่งการมีชีวิต

องค์ปรางค์ตั้งอยู่บนฐานสูงสองชั้นสลักลวดลายต่าง ๆ เช่น ลายประจำยาม ลายกลีบบัวอย่างสวยงาม ก่อด้วยหินทรายสีขาวทำเป็นชั้นซ้อนกันขึ้นไปห้าชั้น ที่ส่วนยอดจำหลักเป็นรูปครุฑแบกทั้งสี่ทิศ เหนือขึ้นไปสลักเป็นรูปเทพประจำทิศต่าง ๆ และรูปดอกบัว นับเป็นลักษณะสถาปัตยกรรมที่ต่างจากปราสาทหินที่พบทั่วไป

จากองค์ปรางค์ประธานมีมุขเชื่อมต่อกับห้องรูปสี่เหลี่ยมทางด้านทิศใต้หรือด้านหน้า ทำให้ภายในปรางค์ดูกว้างขวาง

ทับหลังและหน้าบันที่ประดับองค์ปรางค์ประธานส่วนใหญ่เล่าเรื่องรามายณะ และคติความเชื่อในศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์ เช่น หน้าบันด้านทิศใต้ หรือด้านหน้าก่อนเดินเข้าในองค์ปรางค์เป็นภาพศิวนาฏราช หรือพระศิวะฟ้อนรำ 108 ท่า ในศาสนาฮินดูเชื่อว่า เมื่อใดที่พระศิวะฟ้อนรำผิดจังหวะ เมื่อนั้นโลกก็จะเกิดกลียุค นอกจากนี้ยังมีทับหลังที่จำหลักภาพอันเป็นหลักฐานสำคัญ ว่าปราสาทหินพิมายเป็นศาสนสถานในพุทธศาสนา คือภาพพุทธประวัติตอน "มารวิชัย" และพระโพธิสัตว์ในพุทธศาสนาลัทธิมหายาน




- ปรางค์พรหมทัต ก่อด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยของพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 (พ.ศ. 1724-1761) เมื่อคราวที่พระองค์ทรงบูรณะปราสาทหินพิมาย ภายในปรางค์พบประติมากรรมศิลารูปบุคคลขนาดใหญ่นั่งขัดสมาธิ ชาวบ้านเรียกกันว่าท้าวพรหมทัต แต่นักโบราณคดีเชื่อว่าเป็นพระบรมรูปของพระเจ้าชัย-วรมันที่ 7 และพบรูปผู้หญิงนั่งคุกเข่าที่ชาวบ้านเรียกว่า นางอรพิมพ์ ในตำนานอรพิมพ์ ปาจิตต ซึ่งเป็นเรื่องเล่าในท้องถิ่น จนกลายเป็นชื่อบ้านนามเมืองในย่านเมืองพิมาย ประติมากรรมที่พบดังกล่าวสภาพไม่สมบูรณ์ ปัจจุบันนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพิมาย


- ปรางค์หินแดง ตั้งอยู่ด้านขวาของปรางค์ประธาน ก่อด้วยหินทรายสีแดง มีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 17 ในสมัยของพระเจ้าสุริยวรมันที่ 2 ซึ่งทรงนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวษณพนิกาย และได้พบศิวลึงค์ในหอพราหมณ์ซึ่งตั้งอยู่ติดกับปรางค์หินแดงถึงเจ็ดองค์ จึงสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นสถานที่ที่ประกอบพิธีทางศาสนาพราหมณ์


- บรรณาลัย เป็นอาคารก่อด้วยหินทรายสีแดงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้ายกพื้นสูง ตั้งอยู่ใกล้ซุ้มประตูทิศตะวันตก นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าเป็นที่เก็บรักษาตำราทางศาสนา หรืออาจเป็นที่ประทับของกษัตริย์เมื่อเสด็จมาทรงประกอบพิธีกรรม


- สระน้ำ หรือบาราย โบราณสถานเขมรมักมีสระน้ำ หรือที่ภาษาเขมรเรียกว่าบาราย อยู่คู่กันแทบทุกแห่ง เป็นสระที่ขุดขึ้นเพื่อเก็บกักน้ำไว้อุปโภคบริโภค บางคนก็เชื่อว่าเป็นสระน้ำศักดิ์สิทธิ์เพื่อใช้ในการประกอบพิธีกรรม บริเวณเมืองพิมายมีบารายอยู่หลาย แห่งที่อยู่ภายในกำแพงเมือง คือ สระแก้ว สระพรุ่ง และสระขวัญ นอกเขตกำแพงเมืองคือสระเพลง อยู่ทางทิศตะวันออก สระโบสถ์ อยู่ทางทิศตะวันตก




ประตูชัย
เป็นหนึ่งในประตูเมืองซึ่งมีอยู่ทั้งสี่ทิศ ประตูชัยอยู่ทางด้านทิศใต้ของปราสาทหินพิมายรับกับถนนโบราณที่ทอดตรงมาจากเมืองพระนครในเขมร มีแผนผังการก่อสร้างเหมือนกันทุกประตู คือเจาะเป็นช่องสูงเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ก่อด้วยศิลาแลง ด้านข้างทั้งสองด้านของประตูมีห้องอยู่สามห้อง เทคนิคการสร้างประตูเมืองนี้บ่งบอกว่าอยู่ในยุคสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ทำให้สันนิษฐานได้ว่าประตูเมืองคงได้รับการสร้างเพิ่มเติมขึ้นภายหลังในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7


กุฏิฤาษี
บริเวณที่ตั้งกุฏิฤาษีเป็นจุดสิ้นสุดของถนนโบราณที่มีต้นทางจากเมืองพระนครในเขมร แต่ไม่เหลือร่องรอยถนนไว้ให้เห็นเพราะเป็นที่อยู่อาศัยของชาวบ้าน กุฏิฤาษีเชื่อว่าเป็นอโรคยาศาลสร้างขึ้นช่วงรัชกาลพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 ซึ่งเป็นยุครุ่งเรืองแห่งอาณาจักรขอม พระองค์โปรดเกล้าฯ ให้สร้างอโรคยาศาลตามเส้นทางโบราณไว้เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันนี้เหลือให้เห็นเพียงซากกำแพงศิลาแลงกับปราสาทเท่านั้น

ท่านางสระผม
เป็นโบราณสถานนอกกำแพงเมือง ตั้งอยู่ริมลำน้ำเค็มทางทิศใต้ของเมือง เดิมทีเป็นเพียงเนินดินใหญ่ที่มีเศษภาชนะดินเผาและเศษกระเบื้อง กระทั่งได้รับการขุดแต่งขึ้นในปี พ.ศ. 2531 จึงพอเห็นรูปรอยว่าเป็นอาคารทรงกากบาทก่อด้วยศิลาแลงมีฐานเป็นชั้น ๆ และพบร่องรอยหลุมขนาดเล็กอยู่ที่มุมอาคารทุกจุด นักโบราณคดีสันนิษฐานว่าคงเป็นศาลาจัตุรมุข ซึ่งเป็นท่ารับเสด็จเจ้านายทางฝั่งพิมาย เพราะเป็นท่าน้ำแห่งเดียวที่อยู่ในแนวถนนโบราณห่างจากท่านางสระผมไปเล็กน้อยมีสระน้ำรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดกว้าง 200 ม. ยาว 400 ม. เรียกว่าสระช่องแมว แต่ไม่ปรากฏเรื่องราวว่ามีความสำคัญใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น